วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมของชาวไทยอีสาน


วิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมของชาวไทยอีสาน มีรากฐานมาจากความเชื่อของศาสนาพุทธที่ปรับให้เข้ากับจารีตพื้นบ้านและยังให้ความนับถือกับผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนในบริเวณนี้ชาวอีสานผู้ยึดมั่นอยู่ในจารีตประเพณีที่เรียกว่า “ฮีตบ้านคองเมือง”หรือ “ฮีตสิบสองคองสิบสี่” ที่มุ่งให้ผู้คนช่วยเหลือเกื้อกูล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ร่วมกันทำกิจกรรมให้กับสังคมและหมู่บ้านของตน ฮีตสิบสองคองสิบสี่เป็นประเพณีที่สำคัญในรอบ 12 เดือน มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรกรรมทำนาและปากท้องของชุมชนเป็นส่วนใหญ่ยกตัวอย่าง เช่น ประเพณีไทยเดือนยี่ทำบุณคูนลาน หรือบางครั้งเรียกว่า ทำบุญกองข้าว การทำบุญคูนลาน เป็นช่วงเวลาหลังจากที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วชาวนาจะนำเฉพาะข้าวเปลือกล้วน ๆ ไปสู่ลาน ทำเป็นกองเหมือนจอมปลวก ทำพิธีบวงสรวงแม่โพสพเลี้ยงพระภูมิเจ้าที่ สู่ขวัญข้าว และนิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และถวายอาหารเป็นอันเสร็จพิธี 

การที่สังคมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนส่งผลให้ประเพณี พิธีกรรม การดำรงชีวิตไนแต่ละภูมิภาคได้เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเดิมที่ว่า สิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน พฤติกรรมของมนุษย์จึงเปลี่ยนตามไปด้วยโดยมีปัจจัยทั้งจากภายในและภายนอกที่ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์นั้นเปลี่ยนดังนี้

การขยายตัวของทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ และโคราช ในปี พ.ศ. 2443 ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการปลูกข้าวเพื่อบริโภคเป็นปลูกเพื่อขาย เมื่อการขนส่งคมนาคมสะดวกขึ้น ได้ทำให้การขนส่งข้าวไปยังกรุงเทพฯสะดวกขึ้น ได้กระตุ้นให้ชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบุกเบิกหาที่ดินใหม่ๆ และจัดสรรที่ดินบางส่วนเพื่อปลูกข้าวเจ้าเพื่อส่งไปขายนอกเหนือจากการปลูกข้าวเหนียวเพื่อบริโภคในครัวเรือน นอกจากนั้น การขยายตัวของทางรถไฟนี้ได้ทำให้อีสานมีความใกล้ชิดกับกรุงเทพฯ มากขึ้น พ่อค้าจีนได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ชได้แนะนำสินค้าใหม่ ๆ แก่ชาวนา นอกจากนั้น ประชาชนต้องใช้เงินเพื่อชำระภาษีสิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขที่จูงใจให้ชาวนาผลิตข้าวเพื่อขาย

ดังนั้น เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาพทางเศรษฐกิจ ชาวนาจึงจำเป็นต้องปลูกข้าวเจ้าเพื่อขายและยังรักษาการปลูกข้าวเหนียวไว้เพื่อบริโภค เนื่องจากรายได้ที่ไม่มั่นคง แต่เมื่อยังมีข้าวไว้ในยุ้งเพื่อไว้กินชาวนายังอุ่นใจเนื่องจากข้าวมีค่าเท่ากับเงิน และสามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ ในหมู่บ้านได้
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อัครพงษ์ คำคูณ (2551). ฮีตสิบสอง : เอกสารวิชาการ โครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน 5/2551. กรุงเทพฯ :
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------