วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

หลักปรัชญาที่แฝงในคติความเชื่อประเพณีการบูชา พระลักษมี

ต่อจากตอนที่แล้ว คติการบูชา พระลักษมี ประเพณี ความเชื่อจากฮินดูถึงไทย ตอนนี้จะกล่าวถึงหลักปรัชญาที่แฝงในคติความเชื่อประเพณีการบูชา พระลักษมี


ภาพ คชลักษมี มี ๔ กร


"สี่กร" เป็นสัญลักษณ์ของพรที่พระนางมอบให้ มีความหมายถึงจุดหมายสุดท้ายสี่ประการของชีวิตมนุษย์คือ ธรรมะ ความร่ำรวย ความสุขสบายและการหลุดพ้น (โมกขษะ)

ภาพสระบัว มีบุคคลถือหม้อน้ำปรากฏด้านซ้ายและขวา ใต้ภาพ Sri Devi : Ellora


"ดอกบัว" Lord Krishna says in his Bhagavad Gita, ‘live life like a lotus that is untouched by water even when it dwells in it". พระวิษณุกล่าวไว้ใน ภควัตคีตาว่า “จงมีชีวิตอยู่เหมือนดอกบัว ที่แม้กำเนิดจากน้ำ แต่น้ำก็ไม่สามารถสัมผัสดอกบัวได้” นอกจากนั้นความหมายของดอกบัวนั้นสัมพันธ์กับคำว่า ศรี-ลักษมี หมายถึง ความบริสุทธิ์และพละกำลัง รากของดอกบัวแม้จะจมอยู่ในโคลนตม แต่สามารถขึ้นมาบานเหนือน้ำได้ โดยโคลนไม่สามารถให้มีรอยมลทินได้ ดอกบัวแสดงถึงจิตใจที่ดีงามและพลังอำนาจ


"ดอกบัว" ในคติความเชื่อของชาวอินเดียถือเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ และน้ำเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ใน Hindu Goddess กล่าวถึงความหมายของดอกบัวไว้ ๒ ความหมายคือ

หนึ่ง ดอกบัวหมายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และชีวิต ดอกบัวที่บานออกจากพระนาภีของพระวิษณุหมายถึงจุดเริ่มต้นของการกำเนิดแห่งจักรวาล ดังนั้นดอกบัวจึงหมายถึงการกำเนิดของจักรวาล

สอง ความหมายที่สองนี้เกี่ยวข้องกับศรี-ลักษมี แสดงถึงความบริสุทธิ์และพลังแห่งจิตวิญญาณ รากที่อยูในโคลนตม แต่สามารถเติบโตได้เหนือน้ำ โคลนไม่สามารถเปรอะเปื้อนได้ 

ดอกบัวแสดงถึงจิตวิญญาณอันสมบูรณ์และพลังอำนาจ อาสนะในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธก็คือ ปัทมาสนะ แสดงถึงพลังแห่งจิตวิญญาณ ศรี-ลักษมี ไม่ได้แสดงเฉพาะอำนาจแห่งจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ยังหมายถึงพลังแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่รวมกัน และปรากฏออกมาโดยพระนางลักษมี 


Figure of the goddess Sri

"ช้างตามคติความเชื่อของชาวอินเดียหมายถึงเมฆฝน ชาวอินเดียและชาวเอเชีย มีอาชีพหลักในการเกษตรกรรม เชื่อว่าช้างที่มีลักษณะดีเกิดขึ้นในเมืองใด เมืองนั้นจะมีฝนตกสม่ำเสมอ และบ้านเมืองจะอุดมสมบูรณ์

ใน Hindu Goddess ก็ได้กล่าวถึง ความหมายของ ช้าง ไว้ดังนี้ 

หนึ่ง ช้างมีความหมายถึง ฝนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ประเพณีฮินดูโบราณกล่าวว่า ช้างแรก ๆ มีปีกและบินออกมาจากท้องฟ้า ในความเป็นจริง มันคือเมฆและทำให้มีฝนตกลงบนโลกมนุษย์ในทุกที่ที่มันไป ช้างท้องฟ้า (Sky Elephant) เหล่านี้ ถูกสาปโดยนักบวชเมื่อพวกมันร่อนลงบนต้นไม้ ที่ซึ่งพวกนักบวชได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ ทำให้การทำสมาธิถูกขัดขวาง ปีกจึงถูกถอดออก กลายเป็นช้างบนโลกมนุษย์ไป

แต่ช้างเหล่านี้ก็ยังเกี่ยวพันกับเมฆ การที่ภาพประติมากรรม แสดงถึงช้างคู่กับพระลักษมีนั้น สนับสนุนให้เห็นหลักการที่ว่า ในลักษณะธรรมชาติของนาง มักจะหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีพระลักษมีที่ใด มีช้างที่นั่น และมีช้างที่ไหน จะมีความอุดมสมบูรณ์ของฝนฟ้าที่นั่นเช่นกัน 



สอง ช้างแสดงถึงพลังแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ กษัตริย์อินเดียในสมัยโบราณมีโรงช้างไว้เลี้ยงช้างของเมือง เพื่อใช้เป็นกำลังในการทหาร กษัตริย์มักจะพระราชดำเนินโดยช้างในพระราชพิธีหรือที่มีพิธีรีตอง และโดยทั่วไป ช้างถูกพิจารณาในฐานะตัวชี้วัดถึงพลังอำนาจของกษัตริย์นั้นๆ 

กษัตริย์อินเดียในสมัยโบราณได้รับความเชื่อถือในการทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล เพื่อความมั่นใจในอำนาจของกษัตริย์ กษัตริย์จึงมักจะสะสมช้างไว้ในพระบารมีเพื่อนำมาซึ่งฝนตก ดังนั้น กษัตริย์และช้าง จึงนำมาสู่ความหมายหลักในรูปเคารพของศรีลักษมีคือ พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่และความอุดมสมบูรณ์ 

ส่วนน้ำที่สรงลงบนศีรษะพระลักษมีนั้น เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแผ่นดินถือว่าน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญ และภาพที่แสดงโดยให้ช้างสรงน้ำลงบนพระนาง เสมือนอาบน้ำนั้นจึงเรียกว่า คชลักษมี และมักจะถูกสลักในวิหารของไวษณพนิกาย โดยเฉพาะประตูทางเข้า

ผู้เข้ามาในวิหารนั้น ไม่เพียงแต่ก้มหัวคำนับต่อพระนาง แต่ยังรับพรและโชคลาภจากพระนางอีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างช้าง หม้อและน้ำ หมายถึงเมฆและฝน หม้อที่คว่ำลงมีความหมายถึงเมฆฝน บางครั้งแสดงภาพให้เห็นว่าวรุณหรือมารุตทำให้ฝนตก ดังนั้นน้ำที่รินลงมาจากหม้อชี้ให้เห็นถึงฝนที่ก่อให้เกิดชีวิต




"สตรี"  สตรีที่ปรากฏในรูปประติมากรรมหรือพระลักษมีนั้น จะหมายถึงเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นเทพเจ้าที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิต เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีการบูชาเทพเจ้าขึ้นไว้สำหรับอ้อนวอนบูชา

โดยมีความเชื่อว่าเทพเจ้าที่ประทานความอุดมสมบูรณ์จะต้องเป็นเพศหญิง เพราะเพศหญิงเป็นเพศแม่ ผู้ที่สามารถให้กำเนิดได้ นอกจากนั้น ยังมีการเสนอความเห็นไว้อย่างหลากหลาย ในการตีความสตรีที่ปรากฏในประติมากรรม

กล่าวถึงตั้งแต่สมัยพระเวทว่า สตรีที่ปรากฏในประติมากรรมนั้น หมายถึงนางอุษา เทพีแห่งรุ่งอรุณ จะต้องทำหน้าที่เปิดประตูท้องฟ้า และได้รับการสรงน้ำจากช้างของพระอินทร์ ต่อมาเมื่อปรากฏในพุทธสถาน ก็ตีความว่าหมายถึงพระนางศิริมหามายา

เมื่อปรากฏในศาสนาฮินดู ก็หมายถึง พระลักษมี และมีความเห็นอีกทาง กล่าวคือ รูปสตรีที่ปรากฏนี้ เป็นสัญลักษณ์เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นลัทธิพื้นเมืองที่มีการบูชาพระแม่ (Mother Goddess) ของชุมชนโบราณลุ่มน้ำสินธุ อายุราว ๓,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล

ดังนั้นจะเห็นว่าคติที่ปรากฏนั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างคติพื้นเมืองและนำไปผสมกับคติของศาสนา กลายเป็นคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องทั้งความอุดมสมบูรณ์แบบดั้งเดิมกับความมีโชคลาภ ความร่ำรวยในเวลาต่อมา

ติดตามอ่านต่อโพสต์หน้านะครับ จะกล่าวถึงเรื่องของการ"กวนเกษียรสมุทร"เรื่องราวที่ปรากฏในวรรณกรรมมหากาพย์เรื่องมหาภารตะ



อ้างอิงจาก: ผาสุข อินทราวุธ. ตราดินเผารูปคช-ลักษมีและกุเวร จากเมืองนครปฐมโบราณ. นิตยสารเมืองโบราณ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ สิงหาคม-พฤศจิกายน ๒๕๒๖. (กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์), ๒๕๒๖, หน้า ๙๓. David R. Kinsley. Hindu Goddesses : visions of the divini feminine in the Hindu religious tradition. (London : University of California Press), 1988, p.21. ผาสุข อินทราวุธ. ตราดินเผารูปคช-ลักษมีและกุเวร จากเมืองนครปฐมโบราณ. นิตยสารเมืองโบราณ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ สิงหาคม-พฤศจิกายน ๒๕๒๖. (กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์), ๒๕๒๖, หน้า ๙๓. B.M. Barua. Barhut Part I,II & III. (New Delhi : Indological book corporation), 1979, pl. LXVII David R. Kinsley. Hindu Goddesses : visions of the divini feminine in the Hindu religious tradition. (London : University of California Press), 1988, p.22. T. Richard Blurton. Hindu Art. (London : British Museum Press), 1992, p.151. Bhagwant Sahai. Iconography of Minor Hindu and Buddhist deities. (Delhi : Vishal Printers), 1975, p.168.